บนเส้นทางที่ทุกคนต่างก็แสวงหาความก้าวหน้า หรือ ต้องการพัฒนาตนเอง โดยต้องมีแรงจูงใจ (Motivation) ทั้งภายในและภายนอก เพื่อปรับเปลี่ยนกรอบความคิดของตนเอง (Mindset) หรือต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างของตัวเอง จากความคุ้นชินแบบเดิมๆ
ในทำนองเดียวกัน เราเองก็ปรารถนาที่จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกๆ แฟน คู่ค้า หรือเพื่อนร่วมงาน ล่าสุดได้มีงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงแง่มุมสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (แรงจูงใจ) ที่สามารถเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับความท้าทายได้ โดยบทความนี้จะเจาะลึกกลยุทธ์แรงจูงใจที่ใช้กันทั่วไป ข้อจำกัดของวิธีการ และข้อเสนอการปรับเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์เชิงบวก เพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ตามต้องการ
แรงจูงใจคืออะไร และแรงจูงใจมีอะไรบ้าง
แรงจูงใจ ภาษาอังกฤษ คือ Motivation หมายถึง สิ่งซึ่งควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ อันเกิดจากความต้องการ (Needs) พลังกดดัน (Drives) หรือ ความปรารถนา (Desires) ที่จะพยายามดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ [ที่มา wikipedia.org]
แรงจูงใจ ประกอบด้วย แรงจูงใจภายในและภายนอก (Intrinsic and Extrinsic Motivation) ซึ่งส่งผลกระตุ้นให้แสดงออกทางพฤติกรรมแตกต่างกันไป
หลุมพรางกลยุทธ์แรงจูงใจแบบเดิมที่เน้นความกลัว
ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นโดยทั่วไป จะใช้กลยุทธ์ที่สร้างให้เกิดความกลัว โดยเชื่อว่าการขู่ หรือคำเตือนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระทำ
แนวคิดตามหลักจิตวิทยาประเภทนี้ถูกฝังลึกมาอย่างยาวนาน เช่น การรณรงค์ด้านสุขภาพและด้านนโยบายอื่นๆ มักใช้วิธีสร้างความกลัวเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ลบล้างข้อสันนิษฐานหล่านี้ แม้ว่าความกลัวและคำเตือนจะส่งผลในระยะสั้น แต่ก็มักจะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น ภาพกราฟิกบนซองบุหรี่ไม่สามารถยับยั้งผู้สูบบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาบางชิ้นเผยให้เห็นว่า รูปภาพเหล่านั้น ไม่ช่วยลดจำนวนของคนสูบ หรือช่วยให้คนเลิกบุหรี่มากขึ้นแต่อย่างใด
พื้นฐานของมนุษย์ไม่ชอบทำตามคำขู่หรือคำเตือน
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวของกลยุทธ์ที่ใช้ความกลัวเป็นแรงจูงใจนั้น มาจากจิตวิทยาของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่สัตว์ตอบสนองต่อความกลัวด้วยการเย็นชา หรือไม่ก็วิ่งหนีไปเลย มนุษย์เองก็มักจะปิดกั้นตัวเองเมื่อเผชิญกับความกลัว และแสดงออกทางอารมณ์เชิงลบ แทนที่จะส่งเสริมการกระทำ คำเตือนสามารถกระตุ้นกระบวนการคิดหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือแม้แต่นำไปสู่การหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างที่ชอบพูดติดตลกว่า กฎมีไว้ให้แหก เป็นต้น
อิทธิพลของวัยมีผลต่อแรงจูงใจ
จากงานวิจัยที่ได้สำรวจในกลุ่มอายุต่างๆ แสดงให้เห็นว่าในแต่ละกลุ่มอายุนั้นต่อต้านคำเตือน หรือคำขู่ และข้อมูลเชิงลบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ แนวโน้มนี้เป็นได้จากทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่น่าสนใจคือ วัยรุ่นและผู้สูงอายุพยายามดิ้นรนหลีกหนีจากแรงจูงใจเชิงลบที่เป็นคำเตือนหรือคำขู่ ส่วนกลุ่มวัยกลางคนแสดงความสามารถที่ดีขึ้นในการเรียนรู้จากข้อมูลเชิงลบ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ต่อคำเตือน คำขู่เชิงลบ แตกต่างกันไปตามช่วงอายุ
พลังของกลยุทธ์แรงจูงใจเชิงบวก
แทนที่จะไปพึ่งพาความกลัวและการข่มขู่ จากการศึกษาวิจัยล่าสุด พบว่าการใช้แรงจูงใจเชิงบวก 3 ประการ สามารถเป็นแรงจูงใจที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบของแรงจูงใจ ได้แก่
- แรงจูงใจทางสังคม
- การชื่นชมและให้รางวัลทันที และ
- การติดตามความคืบหน้าเป็นระยะๆ
1. แรงจูงใจทางสังคม
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยพื้นฐาน มักจะชอบเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น การใช้ประโยชน์จากหลักจิตวิทยาแรงจูงใจนี้จึงได้ผลดี เช่น การแสดงพฤติกรรมเชิงบวกในกลุ่มเพื่อนๆ สามารถมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลียนแบบ ตัวอย่างเช่น การชำระภาษีรายได้ เมื่อคนส่วนใหญ่จ่ายภาษีตรงเวลา จะมีส่วนอย่างมากที่คนอื่นๆจะปฏิบัติตามอย่างมีนัยสำคัญ
2. การชื่นชมและให้รางวัลทันที
ในเชิงจิตวิทยา มนุษย์มักให้ความสำคัญหากได้รับการชื่นชม หรือได้รับรางวัลทันทีมากกว่าการรอผลประโยชน์ในอนาคต ซึ่งแรงจูงใจเชิงบวกกับการให้รางวัลในทันทีนี้ สามารถกระตุ้นให้สนองตอบได้ดีกว่าการหวังผลในระยะยาว
3. การติดตามความคืบหน้าเป็นระยะๆ
การใส่ใจ ติดตามความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เป็นแรงจูงใจที่ทรงพลัง การชื่นชมถึงความสำเร็จเล็กๆน้อยๆช่วยให้บุคคลมีความรู้สึกถึงการใส่ใจ และรู้สึกพึงพอใจ ตัวอย่างเช่น ในการรณรงค์อนุรักษ์พลังงาน หากมีการติดตามความคืบหน้าเป็นระยะๆ ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมายได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว
ข้อสรุปเกี่ยวกับแรงจูงใจเชิงบวก
โดยสรุปแล้ว กลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการกระตุ้นให้เกิดความกลัว หรือการข่มขู่ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น แท้จริงแล้วมักไม่ได้ผล และยังก่อให้เกิดการต่อต้าน การหลีกเลี่ยง ล้มเหลวในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอีกด้วย
ส่วนการใช้กลยุทธ์สร้างแรงจูงใจเชิงบวก ในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น ปรากฎว่ามีประสิทธิภาพ และได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยใช้เทคนิคทั้ง 3 ข้อ ได้แก่ แรงจูงใจทางสังคม, การชื่นชมและให้รางวัลทันที และการติดตามความคืบหน้าเป็นระยะๆ ช่วยส่งเสริมนิสัยเชิงบวกและการแสดงออกทางพฤติกรรมได้ยั่งยืนกว่า